เมื่อไม่นานมามีทางรัฐบาลได้มีมติเห็นชอบให้ใช้มาตรการกระตุ้นตลาดที่อยู่อาศัย โดยการลดค่าธรรมเนียมการโอนจาก 2% เหลือ 0.01% ของราคาประเมิน และลดค่าจดจำนองจาก 1% เหลือ 0.01% ของราคาประเมิน สำหรับที่อยู่อาศัยใหม่ที่มีราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท ซึ่งมาตรการนี้ จะช่วยกระตุ้นให้คนเข้ามาซื้ออสังหาฯ ทั้ง บ้าน ทาวน์เฮ้าส์ คอนโดมิเนียม กันมากขึ้น เพราะที่มาในปีนี้เศรษฐกิจมีการชะลอตัว กำลังซื้อหด ทำให้ตลาดอสังหาฯ ซบเซาตามไปด้วย โดยเฉพาะอสังหาฯ ที่ราคาไม่เกิน 3 ล้าน ซึ่งเป็นกลุ่มใหญ่ที่ค้างอยู่ในสต็อกกว่า 50%

.
อย่างไรก็ตาม มาตรการนี้ไม่ได้เอื้อประโยชน์ให้กับทุกฝ่าย โดยมีทั้งข้อดีและข้อจำกัด ดังต่อไปนี้

.
ในส่วนของข้อดี มาตรการนี้ได้เอื้อประโยชน์ต่อผู้บริโภคในกลุ่มผู้ซื้อระดับรายได้น้อย-ปานกลาง และผู้ที่มีเงินเย็น เพราะสามารถลดภาระต้นทุนในการซื้ออสังหาฯ ลงไปได้ เรียกได้ว่าอาจเป็นโอกาสทองในการเข้าซื้ออสังหาฯ เพราะนอกจากจะได้ลดค่าโอน-ค่าจดจำนองแล้ว ยังเป็นช่วงที่ผู้ประกอบการต้องหาโปรโมชันต่างๆ มาลด แลก แจก แถม เพื่อกระตุ้นยอดขาย และสำหรับผู้ประกอบการที่ถืออสังหาฯ ที่ระดับระคาต่ำกว่า 3 ล้านเอง ก็จะสามารถระบายสต็อกออกได้มากขึ้นจากมาตรการนี้

.
ถึงกระนั้น ถ้าว่ากันตามจริงแล้ว แค่มาตรการนี้อาจไม่เพียงพอต่อการกระตุ้นตลาดอสังหาฯ ให้ ฟื้นคืนดังเดิม เนื่องจากมาตรการนี้ไม่ได้ครอบคลุมทุกระดับราคาของอสังหาฯ แต่จะเน้นไปที่กลุ่มราคาต่ำกว่า 3 ล้านบาท ซึ่งที่อยู่อาศัยในระดับราคานี้ก็จะอยู่แค่เพียงในกลุ่มของ ทาวน์เฮ้าส์ และ คอนโดมิเนียม รอบนอกกรุงเทพฯ ปริมณฑล และต่างจังหวัด เท่านั้น และถึงจะเป็นกลุ่มใหญ่ในตลาดแต่ก็น่าจะไม่มากพอที่จะส่งผลต่อตลาดมากนัก ถ้าเทียบกับการออกมาตรการที่ครอบคลุมทุกระดับราคา ซึ่งเคยมีมาตรการนี้ออกมาเมื่อปี 2558

.
นอกจากนี้ ช่วงนี้เศรษฐกิจก็ยังซบเซาอย่างต่อเนื่อง แม้จะลดค่าโอนและค่าจดจำนอง ผู้บริโภคก็ยังคงไม่มีกำลังมากพอที่จะซื้อ เพราะผู้บริโภคกลุ่มนี้ ได้รับผลจากภาวะเศรษฐกิจที่ผันผวนมากกว่ากลุ่มไหน ตลอดจนปัญหาเรื่องการความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อจากธนาคาร และหนี้สินของภาคครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูง

.
จะเห็นได้ว่าแม้มาตรการฟังผิวเผินแล้วดูดี แต่ก็อาจไม่มากพอที่จะกระตุ้นตลาดอสังหาฯ ให้กลับมาคึกคัก เนื่องจากมาตรการยังคงไม่ครอบคลุม และยังคงมีปัจจัยต่างๆ ทางเศรษฐกิจที่เข้ามาเป็นตัวแปรสำคัญ